Filtrer par genre

1 สมการชีวิต

1 สมการชีวิต

ปัญญา ภาวนา ฟังธรรมะ ปัญญาภาวนา Panya Bhavana

นำ "โจทย์" จากชีวิตจริงมาวิเคราะห์แจกแจง, เปิดประเด็นปัญหา ขุดคุ้ยคำตอบที่ซ่อนอยู่ แล้วปรับสมดุลย์ด้วยสัจจะธรรม เพื่อให้เห็นเส้นทางดำเนินต่อไปในชีวิต ในช่วง "สมการชีวิต". New Episode ทุกวันจันทร์ เวลา 05:00, Podcast นี้เป็นส่วนหนึ่งของรายการธรรมะรับอรุณ ออกอากาศทุกวันทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย (สวท.) มีคำถาม/ข้อเสนอแนะ หรือสมัครติดตามฟังทั้ง 7 รายการ ที่ panya.org


Hosted on Acast. See acast.com/privacy for more information.

289 - นิสัย 22 อย่าง ที่ควรละ [6719-1u]
0:00 / 0:00
1x
  • 289 - นิสัย 22 อย่าง ที่ควรละ [6719-1u]

    อุปนิสัยของคนที่เคยบวชแล้วสึกออกไป (ทิด)

    - หลังจากสึกแล้ว ออกไปอยู่ครองเรือน จะมีความรับผิดชอบขึ้น ใจเย็นขึ้น มีอุปนิสัยเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นกว่าก่อนบวช แต่อุปนิสัยดี ๆ เหล่านั้น อาจจืดจางได้ ขึ้นอยู่กับว่าได้สร้างเหตุเพื่อรักษาความดีนั้นอย่างต่อเนื่องหรือไม่ เช่น นั่งสมาธิ การคบเพื่อน เป็นต้น

    นิสัย 22 อย่าง ที่ทำให้ชีวิตตกต่ำลง

    1) ไม่ยอมตื่น–นอนในเวลาที่ไม่ควรจะนอน

    2) เสพความบันเทิงมากเกินไป

    3) ไม่เข้าหาบัณฑิต

    4) แวดล้อมด้วยคนเทียมมิตร–เอาแต่ได้ มีภัยไม่ช่วย ปอกลอก ต่อหน้าอย่างลับหลังอย่าง หัวประจบ ชักชวนไปในทางไม่ดี

    5) อยู่กับศพ–อยู่กับคนไม่มีศีล

    6) ไม่เปิดทางน้ำเข้า–ปิดกั้นไม่ให้มีทรัพย์สินเข้า ไม่ขยันทำมาหากิน ไม่หาแหล่งรายได้อื่น

    7) ไม่ปิดทางน้ำออก–เปิดทางให้ทรัพย์สินไหลออก, อบายมุข 6 (ดื่มสุรา เที่ยวกลางคืน ดูการละเล่น การพนัน คบคนชั่วเป็นมิตร เกียจคร้านในการทำงาน)

    8) ไม่ทำงบประมาณ–ไม่มีสมชีวิตา ไม่รู้รายรับรายจ่าย ทำให้ไม่รู้จักสมดุล ไม่รู้จักการใช้จ่ายทรัพย์ใน 4 หน้าที่ (ใช้จ่ายในครัวเรือน รักษาทรัพย์ สงเคราะห์ผู้อื่น ให้)

    9) ไม่ฝังทรัพย์–ไม่ทำบุญให้ทาน ไม่บริจาคในเนื้อนาบุญ

    10) ไม่จ่ายหนี้–ไม่ดูแลบำรุงเลี้ยงบิดามารดา

    11) ไม่ให้คนยืม–ไม่สงเคราะห์ผู้อื่น

    12) เติมเนื้อไม้ใหม่–ไม่ศึกษาหาความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของตน ศึกษาหาความรู้ที่ไม่ถูกทาง

    13) มีตาเดียว–หาแต่ทรัพย์อย่างเดียว โดยไม่สนวิธีการได้มา (ตั้งอยู่ในศีลธรรมหรือไม่ เป็นกุศลธรรมหรือไม่ วิญญูชนติเตียนหรือไม่ ไม่มองเห็นอนาคตทางตรงด้วยสองตาขึ้นไป)

    14) หวั่นไหวในโลกธรรม–ทำให้เกิดทุกข์ (ลาภ เสื่อมลาภ ยศ เสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์)

    15) คำนึงถึงแต่สิ่งที่ล่วงไปแล้ว–จมอยู่กับความผิดพลาดในอดีต

    16) มุ่งหวังในสิ่งที่ยังไม่มาถึง–กลัวผิดพลาดในสิ่งที่ยังไม่เกิด ทำให้ไม่ทำอะไร (ต่างกับการตั้งเป้าหมายที่จะต้องใช้สองตา)

    17) ไม่รับภาระ–ไม่สนใจใคร อยู่ใน comfort zone ไม่รู้จักพัฒนาตนด้วยการออกจาก comfort zone ทำให้ไม่เกิดความเจริญก้าวหน้า

    18) ไม่สนทนาธรรมตามกาล–ไม่ทำข้อปฏิบัติที่ทำให้เกิดปัญญา ไม่หาฟังสิ่งที่ดีดี เช่น ธรรมะ และไม่สอบถามคำถาม ชีวิตก็จะพัฒนาได้ยาก

    19) ไม่รู้ว่าวันนี้ชีวิตจะทำอะไร–ไม่มีแผนในการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน เพื่อให้ไปสู่เป้าหมายชีวิตที่ตั้งไว้

    20) คิดลบอยู่เรื่อย–มองโลกในแง่ร้าย (อิจฉาริษยา ระแวง เคลือบแคลง ขี้เกียจ)

    21) มีข้ออ้างทุกอย่าง–(ผัดวันประกันพรุ่ง) ชีวิตจะไม่สำเร็จ ก้าวหน้าไปไม่ได้

    22) ไม่รู้ประมาณในการบริโภค–ไม่รักษาสุขภาพ ไม่ออกกำลังกาย จิตใจจะดีได้ก็ต้องอาศัยร่างกาย

    บทสรุป : นิสัยที่ไม่ดี 22 ข้อนี้ ถ้ามีแล้ว ชีวิตจะเสื่อมลง ต่ำลง ถดถอย แต่ถ้าปรับปรุงตัว ละนิสัยไม่ดี 22 ข้อนี้ได้ ชีวิตจะเจริญก้าวหน้า รุ่งเรือง เป็นมงคล มีแสงสว่าง อย่างแน่นอน



    Hosted on Acast. See acast.com/privacy for more information.

    Sun, 05 May 2024 - 59min
  • 288 - การบรรลุโสดาบันในโลกปัจจุบัน [6718-1u]

    Q1: โสดาบัน

    A: โสดาบัน หมายถึง ผู้ที่จะไปถึงกระแส อยู่บนกระแส อยู่บนทาง เปรียบเหมือนกับการล่องแม่น้ำให้ออกไปสู่ทะเล คือ ทางที่จะไปสู่พระนิพพาน

    - คุณสมบัติของโสดาบัน (โสตาปัตติยังคะ 4)

    (1)–(3) มีศรัทธาอย่างลงมั่นไม่หวั่นไหวในพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ (อจลศรัทธา): โดยศรัทธาจะเต็มได้ต้องควบคู่ไปกับการมีปัญญาพอสมควร รู้ว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไรไว้ ไม่ทำในสิ่งที่ท่านไม่ได้สอน ไม่งมงาย ตั้งมั่นในเรื่องของกรรม จิตใจจะไม่เคลื่อนคล้อยไปทางอื่น เช่น การอ้อนวอนบูชาขอร้อง เสี่ยงเซียมซี ดูหมอดู แก้เคล็ด เป็นต้น หากไม่สบายใจก็จะหาคำตอบจากในคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ไปหาคำตอบนอกคำสอนของพระพุทธเจ้า

    (4) มีศีล 5 ชนิดที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย

    - ความเป็นโสดาบัน (โสตาปัตติผล)

    (1) จะมีศีล ชนิดที่ไม่ใช่สีลัพพตปรามาส-จะไม่งมงาย ไม่ใช่สายมู ทุกอย่างมีเหตุมีผล

    (2) จะละสักกายทิฏฐิได้-เข้าใจว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นของไม่เที่ยง

    (3) จะละวิจิกิจฉาได้-ละความเคลือบแคลง เห็นแย้ง ไม่ลงใจไปได้

    - ประเภทของโสดาบัน 1. เอกพีชี (เกิดอีก 1 ชาติ) 2. โกลังโกละ (เกิดอีก 2-3 ชาติ) 3. สัตตักขัตตุงปรมะ (เกิดอีกไม่เกิน 7 ชาติ)

    - การบรรลุโสดาบันในยุคปัจจุบัน แม้คุณสมบัติการเป็นโสดาบันจะไม่ง่าย แต่หากเราใช้ ความเพียรในการสร้างเหตุ ความเป็นโสดาบันก็จะเกิดขึ้นได้ ให้ตั้ง “ความเพียร” ในการสร้างเหตุที่จะเป็นโสดาบัน ก็จะได้โสตาปัตติผลอย่างแน่นอน แม้จะยาก แต่ผลที่จะได้มันมาก ความทุกข์จะลดลงไปอย่างมาก ผู้ที่เป็นโสดาบันแล้ว ท่านเปรียบกับเศษฝุ่นที่ติดปลายเล็บกับปริมาณหินดินบนเทือกเขาหิมาลัย ปริมาณความทุกข์ของโสดาบันที่จะหมดสิ้นไปมากเท่านั้น ที่เหลืออยู่มีเพียงนิดเดียว

    - การเป็นโสดาบันจะรู้ได้ด้วยตัวเอง โดยจะมีเครื่องทดสอบให้ทำผิดศีล ให้ออกนอกเส้นทางที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ ก็จะทำไม่ได้ จิตใจจะไม่น้อมไป เมื่อคุณสมบัติโสดาบันครบตอนไหน ก็เป็นโสดาบันได้ตอนนั้น กรณีที่จะเป็นโสดาบันไม่ได้ คือ ได้ทำอนันตริยกรรม (ฆ่าพ่อแม่ ฆ่าพระอรหันต์ ทำสงฆ์ให้แตกกัน ทำพระพุทธเจ้าให้ห้อเลือด)

    Q2: ความเห็นไม่ตรงกับคู่ครอง

    A: เป็นปัญหาของการใช้ชีวิตคู่ เป็นเรื่องยุ่งของการครองเรือน วิธีการป้องกันไม่ให้วุ่นวายไปกว่านี้ คือ อย่าทำผิดศีลและมีสัมมาวาจา หรือประพฤติพรหมจรรย์

    Q3: ให้ทานมากจนไม่เหลือไว้ใช้จ่าย

    A: การห้ามไม่ให้ผู้อื่นให้ทาน ไม่ใช่มิตรแท้แต่เป็นคนพาล และการให้ทานแล้วเบียดเบียนตนเองหรือผู้อื่นก็ไม่ถูกต้อง

    - คนฉลาดในการให้ทาน 1) ด้วยศรัทธา 2) ด้วยความเคารพ 3) ในเวลาที่เหมาะสม 4) มีจิตอนุเคราะห์ 5) ไม่กระทบตนและผู้อื่น หากขาดข้อใดข้อหนึ่ง บุญก็จะเศร้าหมองลง

    - วิธีแก้ปัญหาการให้ทานมากเกินไป ให้จัดทำงบประมาณกันเงินไว้สำหรับการทำทาน เพื่อไม่ให้กระทบตนและเพื่อผู้อื่น



    Hosted on Acast. See acast.com/privacy for more information.

    Sun, 28 Apr 2024 - 47min
  • 287 - ชนะกิเลสด้วย "ปัญญาวุธ" [6717-1u]

    ช่วงไต่ตามทาง: ภรรยาพาลูกหนีออกจากบ้าน

    - ท่านผู้ฟังรายนี้เจอเหตุการณ์ภรรยาพาลูกหนีมา กทม. โดยไม่ทราบสาเหตุ เกิดคำถามข้องใจและความเป็นห่วงมาก จิตใจไม่เป็นสุข แต่เมื่อได้ฟังพระสูตร ก็รู้สึกเย็นขึ้น จิตใจสงบลง ระงับความคิดฟุ้งซ่านลงไปได้บ้าง

    - เมื่อจิตใจเบา นุ่มนวล เย็นอยู่ในภายใน ก็จะสามารถหาวิธีการอื่นที่เหมาะสม นุ่มนวล ไม่เนื่องด้วยอาชญาศาสตรา เป็นไปด้วยคุณธรรม คือ ความสามัคคี เมตตา ให้อภัย หาทางออกที่เป็นกุศลธรรม ชนะทั้งสองฝ่าย ทั้งตัวเราก็ได้ประโยชน์ คือ มีกุศลธรรมเกิดขึ้นในจิตใจ อีกฝ่ายก็ได้รับความต้องการอย่างถูกต้อง มีกุศลธรรมเกิดขึ้น ด้วยการมีธรรมะเข้าไปแทรกเอาไว้

    - สำคัญ คือ “ปัญญา” เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นคุณมี “เครื่องมือ” ที่จะใช้งานเพื่อแก้ปัญหานั้นหรือไม่

    - “อาวุธ” ที่จะนำไปใช้เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่มันเร่าร้อน กดดัน บีบคั้นในทุก ๆ ด้าน ก็คือ “ปัญญา” พระพุทธเจ้าใช้คำว่า “ปัญญาวุธ”

    - กรณีผู้ฟังท่านนี้ ใช้ธรรมะที่ได้ฟังมาปรับให้เกิดอาวุธ คือ ปัญญาในจิตใจของตน จัดการกับสิ่งที่เป็นอกุศลในใจให้มันออกไป (ความคิดฟุ้งซ่าน ตำหนิติเตียนผู้อื่น) ให้จิตใจยังเย็นสบายอยู่ได้ นี่คือตัวอย่างการใช้ปัญญาวุธ


    ช่วงปรับตัวแปรแก้สมการ: ปัญญาวุธ

    - ปัญญา คืออะไร? ท่านจัดสัมมาสังกัปปะไว้ร่วมกับสัมมาทิฏฐิ สังเคราะห์ลงในส่วนที่เรียกว่าปัญญา การที่เราคิดเรื่องนั่นนี่ นั่นแหละคือปัญญาแล้ว เช่น วันนี้จะขายของอะไร ที่ไหน จะคุยกับหัวหน้ายังไง ขับรถไปไหน ความคิดทั้งหมด คือ ปัญญา ทุกคนมีปัญญา แค่เรามีความคิดก็มีปัญญาแล้ว จะถูกหรือผิดเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

    - ถ้าเราตริตรึกไปทางไหนมาก จิตเราจะน้อมไปทางนั้น จิตเราน้อมไปทางไหนมาก สิ่งนั้นจะมีพลัง นี่เป็นเทคนิคหนึ่งที่จะฝึกปัญญาของเราให้มีพลัง คนฉลาดก็กลับเป็นคนโง่ได้ และคนโง่ก็กลับเป็นคนฉลาดได้ ขึ้นอยู่กับแนวคิดของปัญญาว่าไปทางไหน

    - ปัญญาควรใช้ไปในทางที่ไม่คิดคดโกง เบียดเบียดผู้อื่น ไม่ใช้ปัญญาไปในทางตระหนี่ ให้รู้จักการแบ่งปัน และควรใช้ปัญญาหาความสงบให้จิตใจด้วย และควรมีมิตรที่ฉลาดมีปัญญา ไม่คบคนพาล

    - “ปัญญาวุธ” เป็นปัญญาที่เอาชนะ กำจัดจิตใจที่ไม่ดี กำจัดกิเลส ให้เป็นผู้ที่มีจิตใจที่สงบได้

    - ปัญญาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการดำเนินชีวิตไปในทางต่างๆ โดย “ความคิด” เป็นตัวที่ทำให้เกิด “ปัญญา” ปัญญาเกิดจากการคิดธรรมดานี่แหละ แล้วคิดต่อเนื่องต่อไปๆ ปัญญาก็จะพัฒนาเติบโต เช่น ปัญญาในการทำมาหากินที่ดี ไม่คดโกง เบียดเบียน จากนั้นพัฒนาไปในการแบ่งปันทรัพย์ที่หามาได้ ต่อมาก็พัฒนาปัญญาไปในทางทำให้จิตใจมีความสงบ เป็นต้น

    - เมื่อเรารู้จักคิดไปในทางที่ดี สัมมาทิฏฐิก็จะเกิดขึ้น จะค่อยพัฒนาสัมมาสังกัปปะของเราไป ให้ไปตามทางที่ทำให้มีปัญญามากขึ้นๆ เราจึงสามารถสร้างอาวุธ คือ ปัญญาสุดท้ายในการกำจัดกิเลสที่อยู่ในจิตใจของเรา ให้เราเป็นผู้ที่มีความสงบเย็น มีความพ้นทุกข์ รักษาตนให้พ้นจากภัยในวัฏฏะได้นั่นเอง



    Hosted on Acast. See acast.com/privacy for more information.

    Sun, 21 Apr 2024 - 56min
  • 286 - ทำชีวิตให้เจริญ ทั้งทางโลกและทางธรรม [6716-1u]

    Q1: การสวดมนต์โดยไม่รู้ความหมาย

    A: เหตุที่ต้องสวดมนต์เป็นภาษาบาลี เพราะการสาธยายธรรมด้วยภาษาที่เป็นต้นฉบับจะเป็นไปเพื่อรักษาคำสอนของพระพุทธเจ้า การสวดมนต์ภาษาบาลีแม้ไม่รู้ความหมาย แต่เมื่อบทสวดมนต์ทั้งหลายเป็นพุทธพจน์ ซึ่งเป็นคำดี การเปล่งเสียงพูดออกไปก็ย่อมเป็นสิ่งดี แต่ถ้ารู้ความหมายด้วยและทำให้จิตใจสงบด้วยก็จะดียิ่งขึ้น

    - การสวดมนต์มี 3 ขั้นตอน 1. คำพูดที่ออกจากปากเป็นบทสวดมนต์ที่เป็นพุทธพจน์หรือไม่ 2. รู้ความหมายของคำพูดนั้นหรือไม่ 3. ทำให้จิตใจสงบหรือไม่ อาจทำได้ไม่ครบ 3 ขั้นตอน ก็ยังดีกว่าไม่สวดมนต์เลย

    - “ทำนองการสวดมนต์” พระพุทธเจ้าไม่ให้สวดด้วยเสียงโดยยาว (เอื้อน สูง-ต่ำ) เพราะจะทำให้เกิดความกำหนัดได้ (เสียงเพลง) ทรงอนุญาตให้สวดเป็น “ทำนองสรภัญญะ” ได้ คือ ท่องสวดเป็นจังหวะ มีลักษณะเป็นคำฉันท์ คำคล้องจอง บทกลอน เป็นเทคนิคให้จำได้ง่ายขึ้น เพื่อสืบต่อคำสอน

    Q2: ทำชีวิตให้เจริญทั้งทางโลกและทางธรรม

    A: วิธีทำให้ “เจริญทางโลก” ประกอบด้วย 4 อย่าง

    1. มีความขยันหมั่นเพียรในงาน (อุฏฐานสัมปทา)

    2. รู้จักรักษาทรัพย์ (อารักขสัมปทา)

    3. มีมิตรดี (กัลยาณมิตตตา) - มิตรที่มีศีล ศรัทธา จาคะ ปัญญา ที่ทำให้เราเกิดกัลยาณธรรม

    4. มีสมดุลในชีวิต (สมชีวิตา) - ให้รายรับท่วมรายจ่าย รายจ่ายที่ควร 4 อย่าง คือ (1) เลี้ยงดูครอบครัว (2) ลงทุนหรือเก็บไว้ในวันฝนตก (3) สงเคราะห์ผู้อื่น (4) ทำบุญ

    - คาถาเศรษฐี “อุ อา กะ สะ” มีที่มาจากคำสอนของพระพุทธเจ้า 4 ข้อนี้ ไม่ใช่แค่ท่อง แต่ต้องนำไปทำด้วย

    - วิธีทำให้ “เจริญทางธรรม” ประกอบด้วย 4 อย่าง

    1. ศรัทธา - ความมั่นใจ ไม่ใช่ความงมงาย ศรัทธาที่ถูกต้องต้องประกอบด้วยปัญญา คือ มีความเชื่อมั่น มั่นใจในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าว่าทรงตรัสรู้ดีแล้ว, สิ่งที่ท่านตรัสรู้/คำสอนของท่านเป็นสิ่งที่บอกสอนไว้ดีแล้ว, ใครก็ตามที่ปฏิบัติตามคำสอนนั้นจะต้องดีขึ้นมาได้ ให้มั่นใจในการลงมือปฏิบัติ มีเหตุต้องมีผล

    2. ศีล - ศีล 5

    3. จาคะ - การให้ การบริจาค รู้จักสละออก (ให้แบบสงเคราะห์ / ให้เพื่อหวังเอาบุญ)

    4. ปัญญา - ฝึกให้เห็นความเกิดดับของสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็นของไม่เที่ยง

    - “ด้วยความขยันหมั่นเพียร รู้จักเก็บรักษาทรัพย์ มีเพื่อนดี รู้จักรายรับรายจ่าย จะทำให้เจริญทางโลก และด้วยศีล ศรัทธา จาคะ ปัญญา จะสามารถรักษาจิตให้อยู่ในทางธรรม เมื่อแก่ตัวลง สิ่งที่เราสะสมเหล่านี้จะมีกำลังมากขึ้น มีอินทรีย์แก่กล้ามากขึ้น เป็นปัจจัยให้เจริญทางธรรมต่อไปได้”

    Q3: หมดไฟในการทำงาน

    A: พระพุทธเจ้าอาศัยอิทธิบาท 4 ทำให้งานของท่าน คือ การเป็นพระพุทธเจ้าสำเร็จได้ เหล่าพระอรหันต์ทั้งหลายต่างสำเร็จความเป็นอรหันต์ได้ก็เพราะเจริญอิทธิบาท 4 ดังนั้น งานของเราซึ่งเป็นงานธรรมดา จะสำเร็จได้ก็ด้วยอิทธิบาท 4 เช่นกัน งานที่ถูกเติมด้วยอิทธิบาท 4 จะกลายเป็นมงคลในชีวิตทันที ถ้าตั้งจิตไว้ถูก

    - อิทธิบาท 4 ประกอบด้วย

    1. ฉันทะ - ความพอใจ รักในงานที่ทำ

    2. วิริยะ - ความแข็งใจทำต่อไป ไม่เลิกแม้เจออุปสรรค วิริยะคือความมีระเบียบวินัย (ทำในสิ่งที่ต้องทำ ไม่ว่าจะอยากทำหรือไม่ก็ตาม)

    3. จิตตะ - การเอาใจใส่ ตรวจสอบ ตรวจตรา ว่าทำถูกต้องหรือไม่

    4. วิมังสา - การพิจารณา ตรวจตราเพื่อพัฒนาแก้ไขปรับปรุง ใช้วิธีการที่ดีขึ้น

    - โดยมี “สมาธิ” เป็นตัวเชื่อม ประคับประคองไม่ให้เข้มงวดเกินไป (ฟุ้งซ่าน) หรือย่อหย่อนเกินไป (ขี้เกียจ) ไม่ให้ส่ายไปในภายนอก ไม่ให้ตั้งสยบอยู่ภายใน ให้งานนั้นมีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ขึ้นเป็นประธานด้วยอาศัยสมาธิอยู่ตลอด

    Q4: วิธีอยู่ร่วมกันของเจ้านาย และลูกน้อง

    A: ลูกน้องเป็นหนึ่งในทิศทั้งหก หัวหน้าต้องบริหารจัดการลูกน้องโดยไม่ใช้อาชญาหรือศาตรา แต่ให้ใช้เมตตากรุณา เป็นโค้ช สนับสนุน แนะนำให้ลูกน้องเกิดการพัฒนา มีความก้าวหน้า ทั้งทางโลกและทางธรรม คือ 1. ให้ทำงานตามกำลัง 2. ให้อาหารและรางวัล 3. ให้รักษาพยาบาลยามเจ็บไข้ 4. แบ่งของที่มีรสประหลาดให้ 5. ปล่อยให้อิสระตามสมัย



    Hosted on Acast. See acast.com/privacy for more information.

    Sun, 14 Apr 2024 - 51min
  • 285 - เตรียมจิตด้วยปัญญาก่อนเจ็บป่วยมาถึง [6715-1u]

    ช่วงไต่ตามทาง: Party Girl กับคนบ้างาน

    - ท่านผู้ฟังอดีตเคยเป็น Party Girl ชอบสังสรรค์ ดื่มเหล้า ส่วนอีกคนเป็นคนวิศวกร เงินเดือนสูง มุ่งมั่นในการงานและความก้าวหน้าของอาชีพมาก จนกระทั่งได้มีโอกาสไปหลีกเร้น ช่วงที่นั่งสมาธิเกิดความคิดแจ่มแจ้งขึ้นมาว่าการดำเนินชีวิตที่เป็นอยู่ไม่ใช่ “ทาง” จะเอามาเป็นหลักไม่ได้ จึงเลิกสังสรรค์ และลาออกจากงาน แล้วหันมาสนใจปฏิบัติธรรม ทำสมาธิเจริญวิปัสสนากรรมฐาน หาทางพ้นทุกข์ ตั้งหลักในการดำเนินชีวิตใหม่ คือ การเป็น “โสดาบัน” ในชาตินี้

    - การอยู่หลีกเร้นไม่คลุกคลีกับใคร ทำให้ได้ฝึกสติ เกิดสมาธิ ทำให้จิตสงบ เกิดปีติ สุข จึงเกิดปัญญาว่า การแสวงหาความสุขจากการปาร์ตี้ แต่งตัว กิน ดื่ม ตำแหน่งงานสูง เงินเดือนสูง อันนี้ไม่ใช่ทาง แม้ทั้งสองจะอายุไม่มาก ยังเจอทุกข์ไม่มาก แต่มีปัญญามาตามทางมรรค เริ่มเห็นได้ว่า สุขมันก็ทุกข์เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าการมีเงินทองจะเป็นทางออกให้พ้นทุกข์ได้ ด้วยความไม่ประมาทจึงหันมาศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้าให้มากขึ้นดีกว่า

    ช่วงสมการชีวิต:เตรียมจิตด้วยปัญญาก่อนเจ็บป่วยมาถึง

    - สุขภาพกาย สุขภาพใจ ต้องดูแลทั้งสองส่วนคู่กัน

    - “สุขภาพกาย” พระพุทธเจ้าให้แนวทางไว้ว่า

    1) อาหาร - 1. กินพืชมากกว่าเนื้อสัตว์ 2. กินเป็นเวลา 3. กินพอประมาณ

    2) ที่อยู่ - ถ้าอยู่ที่ไหนแล้วยังละกิเลสไม่ได้เหมือนเดิม หรือกิเลสที่เคยละได้แล้วกลับมาอีก ก็ไม่ควรอยู่ที่นั่น

    3) น้ำดื่ม - ให้กรองน้ำก่อน ไม่ให้มีตัวสัตว์ ให้น้ำมีความสะอาดเพื่อจะดื่มได้

    - “สุขภาพใจ” ใครก็ดูแลไม่ได้นอกจากตัวเรา

    - ราคะ โทสะ โมหะ เป็นโรคของจิต ถ้าจิตป่วย กายก็จะป่วยตาม จึงต้องไม่ทำให้จิตใจป่วย คือ อย่าให้มีราคะ โทสะ โมหะ ชนิดที่ควบคุมไม่ให้ผิดศีลไม่ได้

    - นอกจากมีศีลแล้ว “สมาธิ” จะรักษาความสงบ รักษาการไม่มีราคะโทสะโมหะให้มันดีอยู่ได้ เช่น ไม่โกรธถึงขนาดด่าคน ซึ่งจะมีสมาธิได้ต้องมี “สติ” ตั้งเอาไว้ “สติ” ช่วยเสริมสร้างพลังจิต ให้จิตของเราตั้งอยู่ในศีลได้ ให้จิตของเราเวลามีอะไรมากระทบแล้วไม่ขึ้นลง ไม่มีราคะโทสะโมหะออกมาจนทำให้ผิดศีล สติเป็นตัวที่จะรักษาสุขภาพจิตใจของเรา วิธีฝึกสติ คือ “สติปัฏฐาน 4” เช่น อาณาปนสติ ดูลมหายใจ การมีสติสัมปชัญญะรู้ตัวทั่วพร้อมในทุกอิริยาบถ เป็นต้น

    - นอกจากสติและศีลแล้ว ตอนที่เรายังไม่ป่วย ต้องมี “ปัญญา” เข้าใจธรรมชาติของความป่วย เปรียบเหมือนทหารที่ต้องเตรียมตัวไว้ล่วงหน้าก่อนมีการประกาศสงครามจึงจะสามารถรักษาบ้านเมืองเอาไว้ได้ เราจึงต้องเตรียมปัญญาไว้ก่อน เพราะวันที่เราเจ็บไข้ได้ป่วยจะมาถึงแน่นอน

    - ให้เข้าใจธรรมชาติของความเจ็บป่วยด้วย “ปัญญา” ว่า

    1) ความเจ็บป่วยเป็นภัยที่แม่ลูกช่วยกันไม่ได้

    2) เราไม่มีความเป็นใหญ่เฉพาะตนในสิ่งนั้น เช่น สั่งให้แบ่งเวทนาจากความเจ็บป่วยให้ผู้อื่นไม่ได้ สั่งให้หมอรักษาตนให้หายไม่ได้

    3) เวทนาจากความเจ็บป่วยนั้นเป็นไปตามฐานะ คือ เป็นไปตามเหตุปัจจัย บางทีอาจหายหรือระงับได้ด้วยปีติอันเกิดจากการฟังธรรมะ เช่น พระคิลิมานนท์ พระวักกลิ พระอัสสชิ พระสารีบุตร เป็นต้น

    4) เป็นโลกธรรม 8 เป็นสุขทุกข์ที่เกิดขึ้นได้ คือ สุขทุกข์มีในเจ็บ/ไม่เจ็บ ในสุขเวทนาบางทีก็มีทุกข์มีสุขได้ ในทุกขเวทนาบางทีก็มีทุกข์มีสุขได้ คือ กุศลธรรม/อกุศลธรรม มีได้ทั้งในสุขหรือทุกข์

    5) ต้องมีจิตใจที่อยู่ได้ด้วยการมีเป้าหมาย เช่น อิคิไก (ญี่ปุ่น) ความหมายของการมีชีวิตอยู่ ทำตนให้เป็นประโยชน์ ในทางพระพุทธศาสนามีอิทธิบาท 4 ทำให้อายุยืนได้ถึง 1 กัลป์

    6) เวลาไปเยี่ยมผู้ป่วย ไม่ควรถามว่าว่าดีขึ้นไหม สบายดีขึ้นไหม เพราะเวทนาเป็นไปตามฐานะอยู่แล้ว สิ่งที่ควรถามคือ อดทนได้อยู่ไหม ไปให้กำลังใจ ด้วย 5 ข้อข้างต้น ไปพูดคุยเพื่อให้ “ผู้ป่วยเกิดความอาจหาญ ร่าเริงในธรรม”

    - โดยสรุป : สุขภาพจิตที่ดีเริ่มจาก “สติ” รักษา “ศีล” ทำให้เกิด “ปัญญา” เมื่อมีสติ ศีล ปัญญาเป็นเครื่องมือแล้ว ก็จะรักษาสุขภาพจิตให้ดีได้



    Hosted on Acast. See acast.com/privacy for more information.

    Sun, 07 Apr 2024 - 58min
Afficher plus d'épisodes

Podcasts similaires à 1 สมการชีวิต